
โรคปอดอักเสบ (pneumonitis)
มีสาเหตุ2ประการได้แก่
- ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
- ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น สารที่ก่อการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ
โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อพบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และยังพบได้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้เคมีบำบัด หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน
วิธีการติดเชื้อ
- การไอ จาม หรือหายใจรดกัน
- การสำลักเชื้อที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงสู่ปอด
- การลุกลามจากการติดเชื้อที่อวัยวะข้างเคียงปอด เช่น เป็นฝีในตับแตกเข้าสู่เนื้อปอด
การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ
- วินิจฉัยจากประวัติ อาการ การตรวจร่างกาย เอกซเรย์ปอดและการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้แก่ การตรวจเม็ดเลือด การตรวจและเพาะเชื้อจากเสมหะและเลือด การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
อาการของโรคปอดอักเสบ
- ไข้ ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ หายใจเร็วหอบและหายใจลำบาก
- ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม สับสน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
- เด็กเล็กอาจมีท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ
การรักษาโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ
- การให้ยาปฏิชีวนะ ใช้ในกรณีของการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ สำหรับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส และเชื้ออื่นๆ
การป้องกัน
- แนะนำฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคเรื้อรังบางอย่าง
ข้อปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรค
- หมั่นล้างมือเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงสถานที่มีผู้คนหนาแน่น
- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันพิษต่างๆ
- สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงโดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานผักและผลไม้ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ